ข่าว

ชาวเบร็กซิทเสียใจอยากกลับไปโหวตใหม่เลือกอยู่ต่อ  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อียูจี้อังกฤษส่งจดหมายหย่าทันทีหลังลงประชามติขอแยกทาง เบร็กซิทบางคนสำนึกเสียใจ ไม่น่าโหวตออก นึกไม่ถึงเสียงตัวเองจะมีความหมาย บ้างโบ้ยถูกหลอกข้อมูล

 

               ความคืบหน้าหลังจากที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) ตัดสินใจเลือกอนาคตใหม่ ด้วยการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ผ่านการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน ที่ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีของนายเดวิด คาเมรอน ลาออกจากตำแหน่ง กระทบตลาดหุ้นตลาดเงินทั่วโลก ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับยูเคย่ำแย่ลงชั่วข้ามคืน เมื่อแกนนำยุโรปพากันออกมากดดันให้อังกฤษเริ่มกระบวนการแยกทางซึ่งเป็นการแปรพักตร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกือบ 60 ปีโดยเร็ว

               นายคาเมรอน ประกาศเมื่อวันศุกร์ว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนตุลาคม และให้ผู้ที่มารับตำแหน่งแทน เป็นผู้นำเจรจาพาอังกฤษออกจากอียู ตามมาตรา 50 สนธิสัญญาลิสบอน ที่วางกรอบเวลาสำหรับการออกจากเป็นสมาชิกไว้ 2 ปี ทันทีที่ประกาศใช้มาตรานี้

               แต่นายฌอง คล็อด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ให้สัมภาษณ์สื่อเยอรมันว่า ไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลอังกฤษต้องรอถึงตุลาคมจึงค่อยตัดสินใจส่งจดหมายหย่าไปยังบรัสเซลส์ และต้องการให้เกิดขึ้นทันที

               อีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศ 6 ประเทศสมาชิกอียูดั้งเดิม ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียมและลักเซมเบิร์ก ประชุมร่วมกันที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการประชุมฉุกเฉินเวทีแรกของการประชุมต่อเนื่องอีกหลายระดับและหลายเวทีในสัปดาห์หน้า เพื่อรับมือสถานการณ์หลังอังกฤษ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองรองจากเยอรมนีและใหญ่อันดับสามของอียูในแง่ประชากร ต้องการออกจากการเป็นสมาชิก

               นายฟรังค์ วาลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวก่อนร่วมประชุมว่า ไม่อาจยอมให้อียูจมสู่ความซึมเศร้าและเฉื่อยชาหลังการประชามติครั้งนี้ได้ และมั่นใจว่าทั้ง 6 ประเทศจะสามารถส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้ใครมาพรากยุโรปไปจากเรา 

               รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีกล่าวด้วยว่า สหภาพยุโรปเป็นโครงการสันติภาพและเสถียรภาพที่ประสบความสำเร็จ และมีความปรารถนาแรงกล้าภายในกลุ่มที่จะปกป้องกันและเสริมความเข้มแข็ง

               ขณะที่ นายฌอง มาร์ค เอโรต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสกับเยอรมนี กลไกหลักขับเคลื่อนการบูรณการอียู กลุ่มประเทศที่ถือกำเนิดจากความมุ่งมั่นผลักดันสันติภาพยั่งยืนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะเสนอแนวทางความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เพื่อทำให้อียูมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้อังกฤษเริ่มกระบวนการถอนตัวโดยเร็ว

               ทั้งนี้ หลังประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในวันเสาร์แล้ว อียูจะจัดประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันอังคารที่ 29 มิถุนายน ซึ่งนายมาร์ค เอโรต์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ จะต้องเจอแรงกดดันมหาศาลในที่ประชุมว่าต้องเร่งกระบวนการเจรจาออกจากอียู

               ส่วนที่อังกฤษ สื่อหลายสำนักรายงานว่า ไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังจากผลการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ออกมาว่า สหราชอาณาจักรตัดสินใจเลือก “เบร็กซิท” หรือออกจากการเป็นสมาชิกอียู ปรากฏว่ามีคนที่ออกเสียงกาเลือกช่อง Leave หรือออกจากอียู กลับรู้สึกเสียใจกันหลายคน โดยมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่ให้เหตุผลว่า คิดไม่ถึงว่าเสียงของเขาจะมีความหมาย

               โดยในระหว่างให้สัมภาษณ์ต่อวิคทอเรีย ไลฟ์ พิธีกรของบีบีซี “อดัม” ที่โหวตออกจากอียู กล่าวว่า ไม่คิดว่าคะแนนเสียงของตนจะกลายเป็นเรื่องขนาดนี้ เพราะคิดว่าฝ่ายอยู่กับอียูจะชนะ

               อดัม ที่เชื่อว่าฝ่ายอยู่กับอียูชนะแต่โหวตตรงข้าม กล่าวด้วยว่า ช่วงเวลาไม่แน่นอนที่กำลังจะต้องเผชิญในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เริ่มขยายชัดแล้วตอนนี้ และรู้สึกกังวลมาก

               นับจากเผยความรู้สึกออกไปผ่านสื่อ ชาวสื่อสังคมออนไลน์พากันวิจารณ์เซ็งแซ่กับความคิดที่ว่า คะแนนเสียงของตัวเองไม่มีความหมาย และโหวตเลือกฝ่ายที่ไม่ได้สนับสนุนอย่างแท้จริง แต่ปรากฏว่า อดัมมีเพื่อนที่คิดแบบเดียวกันอีกหลายคน เช่น แมนดี ซูที นักศึกษาที่ให้สัมภาษณ์ต่อ ดิ อีฟนิง สแตนดาร์ด กล่าวว่า หากทำได้ก็อยากกลับไปยังคูหาอีกครั้ง และเปลี่ยนไปกา Remain อยู่กับอียูต่อไป

               ต่อมายังให้สัมภาษณ์ต่อไอทีวีว่า เธอ พี่สาวสองคน และพ่อแม่ เสียใจ เมื่อเห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และอยากจะโหวตอีกแบบหากได้โอกาสหนสอง ช็อกที่สุดสำหรับเธอคือ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีประกาศลาออก ซึ่งครอบครัวของเธอไม่คาดคิดว่าจะเป็นแบบนี้

               คาดว่าจะมีคนในสหราชอาณาจักรมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เสียใจที่โหวตออกจากอียู โดยจากสื่อสังคมออนไลน์มีบางคนอ้างว่าถูกฝ่ายรณรงค์ให้ออก หลอกด้วยเหตุผลชี้นำผิดๆ บ้างก็เสียใจที่เห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา  

 

ชาวเบร็กซิทเสียใจอยากกลับไปโหวตใหม่เลือกอยู่ต่อ  

'คาเมรอน'ลาออก!สก็อตแลนด์-ไอร์แลนด์เหนือส่อชิ่ง

 

ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งทวิตว่า โหวตออก เพราเชื่อในคำโกหก


               ทวิตนี้มีขึ้นหลังจากนายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูเค อินดิเพนเดนซ์ (ยูคิบ) แกนนำหาเสียงออกจากอียู ยอมรับในรายการ กู๊ด มอร์นิง บริเทน ว่า ข้อมูลที่ฝ่าย Leave ใช้หาเสียงว่า ยูเคต้องจ่ายเงินสมทบ 350 ล้านปอนด์แก่อียูทุกสัปดาห์ แทนที่จะนำไปให้แก่สำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ เป็นข้อมูลผิดพลาด

               นอกจากนี้ มีผู้สนับสนุนให้อยู่ต่อในสหภาพยุโรปกว่า 8 แสนคน ร่วมลงชื่อคำร้องออนไลน์ไปยังเว็บไซต์รัฐสภาเพื่อขอลงประชามติครั้งที่สอง จนเว็บไซต์ล่ม ในคำร้องเสนอให้ตั้งกฎว่าหากฝ่าย Leave หรือ Remain ได้คะแนนไม่ถึง 60% จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 75% ควรจัดให้ลงคะแนนอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจากรายชื่อในคำร้องบ่งว่าส่วนมากมาจากเมืองใหญ่ในอังกฤษ โดยเฉพาะจากลอนดอน ซึ่งเป็นเขตที่มีคะแนนหนุนอยู่ต่อในอังกฤษหนาแน่นที่สุด

               นอกจากนี้ยังมีคนร่วมลงชื่อเกือบ 1 แสนในคำร้องที่ขอให้นายซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีลอนดอน ประกาศให้ลอนดอน ซึ่งเป็นเมืองนานาชาติ เป็นเอกเทศจากยูเค และสมัครเป็นสมาชิกอียู

               คณะกรรมการรับคำร้องที่กำกับดูแลระบบนี้ จะพิจารณาว่าคำร้องใดมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1 แสนคน ควรนำเข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมการมีกำหนดประชุมในวันอังคารนี้

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ