ข่าว

รุกฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต ...ดันเกษตรกรเป็นพ่อค้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ดลมนัส กาเจ

                หากย้อนไปดูนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการจัดตลาดเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้มีช่องทางการตลาด และสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ผลิตตามระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีมีคุณภาพผ่านการรับรองระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีเอพี, จีเอ็มพี และอย. ภายใต้สโลแกน “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย” ที่มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรรับผิดชอบตลาดเกษตรกรใน 26 จังหวัด เมื่อปี 2557 เพื่อพัฒนาและผลักดันช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพให้เชื่อมโยงสินค้าสู่ตลาดที่สูงขึ้น มาถึงวันนี้เกษตรกรร่วมโครงการเปิดร้านกว่า 960 ร้าน เป็นเงินกว่า 143 ล้านบาท

               ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา อย่างคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เรื่องการตลาดแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปปฏิบัติให้มีความสามารถด้านการตลาดนำการผลิต และถ่ายทอดสู่เกษตรกร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมของผู้ผลิตที่ต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นนั้นๆ ต่อไป และภายใต้โครงการนี้ ได้มีการกำหนดจัดงาน “มหกรรมตลาดเกษตรกร” ร่วมกันด้วย ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2559 ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ย่านถนนแจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยคัดสรรสินค้าเกษตรเกรดพรีเมียมของเกษตรกรจากโครงการตลาดเกษตรกร หรือฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต มาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรงด้วย

                 ขณะที่ นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นแม่งานใหญ่ในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ บอกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการตลาดเกษตรกร หรือฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรรับผิดชอบ 26 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ชัยนาท ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครนายก ขอนแก่น อุดรธานี ตรัง ยะลา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ศรีสะเกษ ชัยภูมิ ชุมพร พังงา พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และพิจิตร ซึ่งผลจากการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 มีเกษตรกรเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าเป็นจำนวนมากกว่า 961 ร้าน เป็นจำนวนเงินกว่า 143 ล้านบาท

                 กระนั้นการพัฒนาด้านการตลาดต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ช่วยนำนวัตกรรมด้านการตลาดเข้ามาใช้ในการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ได้นำไปปฏิบัติ และถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรจนประสบผลสำเร็จ ดังนั้นการจัดมหกรรมตลาดเกษตรในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้นำสินค้าเข้ามาจัดจำหน่าย เป็นช่องทางการพัฒนาสินค้าของเกษตรกรไปสู่ตลาดที่สูงขึ้น หรือโมเดิร์นเทรด ต่อไป

                 ด้าน ดร.มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บอกว่า ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้โครงการการพัฒนาด้านการตลาดสินค้าเกษตรนั้น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์เน้นถ่ายทอดให้ความรู้ด้านนวัตกรรม การจัดการและองค์ความรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการตลาดเกษตรกร ให้มีความรู้และความเข้าใจ ผ่าน 3 หลักสูตรหลักคือ หลักสูตรการถ่ายทอดความรู้หลักการตลาดทั่วไป, หลักสูตรผู้จัดการตลาด และหลักสูตรผู้จัดการตลาดมืออาชีพ เพื่อที่จะได้ร่วมกับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเอง ด้วยการยกระดับการผลิตและการจัดจำหน่ายให้มีคุณภาพมาตรฐาน และสามารถสร้างความเชื่อมั่นจนเป็นยอมรับของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่

                 ในมุมมองของเกษตรกรอาชีพรุ่นใหม่ “นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ” ปราชญ์ชาวบ้าน ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี มองว่า โครงการจัดตลาดเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้มีช่องทางการตลาด ภายใต้แนวคิด “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย" นั้น ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการความคิด และลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แม้จะเพิ่งเริ่มต้นแต่ถือว่าเป็นการเริ่มที่ดีที่จะทำให้เกิดผู้ผลิตที่มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเอง อันก่อให้เกิดการพัฒนาตัวเองไปสู่พ่อค้าในระบบของฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต ในอนาคต

               “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย ถ้าทำได้จริง ยืนยันได้ว่า ไทยจะยิ่งใหญ่ด้วยภาคเกษตร สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ เกษตรกรต้องเปลี่ยนบริบทของตัวเอง ต้องเป็นมืออาชีพ หากดูตัวเลขร้านค้าที่ขายสินค้าเกษตรในพื้นที่ 26 จังหวัด มีเกษตรกรร่วมโครงการขายสินค้าเกษตรภายใต้สมาร์ท มาร์เก็ต 961 ร้าน มียอดจำหน่ายสะสมเป็นเงินกว่า 143 ล้านบาท ไม่ได้แสดงถึงความสำเร็จที่แท้จริง เพราะจริงๆ แล้วยังมีร้านเกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย ที่เกษตรกรขายกันเองที่กรมส่งเสริมการเกษตรยังไม่เก็บข้อมูลอีกมาก เฉพาะใน จ.สุพรรณบุรี มีฟาร์เมอร์ มาร์เก็ต 3 แห่ง มีร้านค้า 22 ร้าน มีมูลค่าการค้าขายปีละ 8.1 ล้านบาท ตรงนี้บ่งบอกว่าเกษตรกรมีการพัฒนาผลผลิตไปไกลแล้ว” นายสุกรรณ์ กล่าว

               นับเป็นมิติใหม่ของวงการเกษตรในประเทศไทย ที่จะยกระดับเกษตรกรจากผู้ผลิตมาเป็นพ่อค้าเองอย่างครบวงจรในอนาคต

.................................

ของเด่น 26 จว.ใน“มหกรรมตลาดเกษตรกร”

               สำหรับงาน “มหกรรมตลาดเกษตรกร” ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2559 ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี นั้น นอกจากการถ่ายทอดความรู้แล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกซื้อสินค้าเกษตรเกรดพรีเมียมของเกษตรกรจากโครงการตลาดเกษตรกรจากตลาดเกษตรกร 26 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ ข้าวอินทรีย์และผักปลอดภัยจากสารพิษ, มะละกอเรดเลดี้, มะพร้าวถอดเสื้อ, ไข่ไก่อารมณ์ดี, ปลาตะเพียนก้างนิ่ม, สับปะรดห้วยมุ่น-บ้านคา, ผลไม้สดและผลไม้พื้นบ้านตามฤดูกาล ฯลฯ

               พร้อมกันนี้ยังมีสินค้าแปรรูปจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคุณภาพมาตรฐานอีกมากมาย พร้อมเปิดจำหน่าย เช่น “ทุเรียนของดี 4 ภาค” พบกับ ทุเรียนหลงลับแล, หลินลับแล, ชะนี, หมอนทอง และทุเรียนพื้นบ้านภาคใต้

                นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวหรือสตอรี่ ร้อยเรียงบอกเล่าถึงความเป็นมาของสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรเด่นการเสวนาหัวข้อ “ตลาดเกษตรกร นวัตกรรมการตลาดเพื่อผู้บริโภค” ชมนิทรรศการวิวัฒนาการตลาดเกษตรกร หัวข้อ “ตลาดเกษตรกรนวัตกรรมการตลาดเพื่อผู้บริโภค” และสาธิตการปลอกมะพร้าวถอดเสื้อ การปอกทุเรียนแบบมืออาชีพด้วย

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ