คอลัมนิสต์

ปฏิรูปปลอดภัยอาหารเสริม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปฏิรูปปลอดภัยอาหารเสริม : บทบรรณาธิการประจำวันที่  23 มิ.ย.2559 

           เหตุสลดใจที่สาววัย 21 ปี รับประทานอาหารเสริมสุขภาพสกัดจากหมามุ่ยอินเดียจนเสียชีวิต ถือเป็นเหตุเศร้าเสียใจต่อการสูญเสียอีกครั้งจากสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะปมที่มีข้อสงสัยว่า อาหารเสริมสุขภาพที่มีขายกันตามท้องตลาด หรือแม้แต่ที่โฆษณากันมากมายในโลกโซเชียลออนไลน์ มีมาตรฐานความปลอดภัยขนาดไหน รวมไปถึงกลุ่มสินค้าประเภทนี้ ที่ทำกันในลักษณะขายตรง มีตัวแทนเดินสายไปขายกับชาวบ้านทั่วไป ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องได้เข้มงวดมากน้อยแค่ไหนในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า การหลอกลวงหรือขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและมีผลข้างเคียงอันตรายโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้ซื้อมีเกิดขึ้นสม่ำเสมอ

           เรื่องดังกล่าว นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงความเป็นห่วงต่อการเสียชีวิตของหญิงสาววัย 21 ปีรายนี้ แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด แต่ก็เห็นว่า ในเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้องระมัดระวังและเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. โดยตรง ที่ต้องเฝ้าระวังติดตาม พร้อมทั้งให้ความรู้ประชาชนมากกว่านี้ พร้อมระบุว่า กำลังจะรีฟอร์ม อย.ให้มีการทำงานที่รวดเร็วมากกว่านี้และทำงานเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ไม่เพียงแต่หมามุ่ยเท่านั้น จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ในการให้ความรู้ประชาชนควบคู่กับการปราบปรามพวกทำผิดกฎหมายที่จำหน่ายอาหารสุขภาพที่เสี่ยงก่อปัญหาสร้างอันตรายแก่ผู้ที่ไม่รู้เท่าทัน

           ในรอบปี 2558 จากสถิติพบว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมการกระทำผิดกฎหมายลักลอบจำหน่ายยาอันตรายและผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 101 ครั้ง พบผู้กระทำความผิด 148 ราย จำนวนของกลาง 1,019 รายการ คิดเป็นมูลค่า 185.55 ล้านบาท ในส่วนอาหารเสริมสุขภาพมีมูลค่าของกลางถึง 151.21 ล้านบาท และยังเผาทำลายของกลางผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ใช่ยาเสพติด ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุด รวมทั้งสิ้น 132 คดี น้ำหนัก 32,730 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า ในกลุ่มอาหารเสริมสุขภาพที่ผิดกฎหมายได้แพร่หลายอยู่จำนวนมาก ขณะที่ภาครัฐได้พยายามเข้มงวดจับกุม แต่สินค้าอันตรายเหล่านี้ยังวางแพร่หลายไปทั่ว โดยเฉพาะโลกออนไลน์

           ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม มีกรณีที่นักเรียนหญิงชั้น ม.5 ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี กินยาลดความอ้วนจนเสียชีวิต จึงน่าจะถึงเวลาปรับเปลี่ยนการทำงานตามที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งประเด็นไว้ ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เรียกร้องว่า จุดอ่อนของผู้บริโภคคือ ไม่สามารถรู้ได้ว่าผลิตภัณฑ์ใดผิดกฎหมายและยังมีบางส่วนแอบอ้างใช้สัญลักษณ์ อย. จึงต้องปราบปรามจริงจัง และควรเปิดเผยผลิตภัณฑ์ที่อนุญาตให้โฆษณาเพื่อตรวจสอบว่าได้รับอนุญาตจริงหรือไม่ ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องปฏิรูปการทำงานทุกช่องทาง ไม่ใช่เพียงแค่ปราบปราม แต่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาข้อมูล ซึ่งจะเป็นปราการด่านแรกที่ช่วยให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อจนเกิดอันตรายถึงชีวิตอีก
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ