ข่าว

หมอแถลง ‘คิว วงฟลัวร์’ ยังไม่พ้นขีดอันตราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจาก คิว วงฟลัวร์ ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2559 ล่าสุด แพทย์แถลง อาการของนักร้องหนุ่ม ยังอยู่ในห้องไอซียู

         ทั้งนี้เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 22 มิ.ย.2559  นาวาอากาศ(พิเศษ) นพ. ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผอ.รพ. กรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ พร้อมด้วย ผศ.พญ. กฤษณี กาญจนพันธุ์ ศัลยแพทย์สมอง และ ระบบประสาท ได้ออกมาแถลงถึงอาการของ นายสุวีระ หรือ คิว วงฟลัวร์ ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยแพทย์ได้ทำการรักษาโดยเจาะเอาเลือดที่ออกอยู่บริเวณเหนือเยื้อหุ้มสมองด้านซ้ายออก และหลังจากการผ่าตัดนักร้องหนุ่ม ก็มีการตอบสนองดีขึ้นสามารถพูดได้ แต่คงต้องอยู่รักษาในห้อง ICU ต่อไป

หมอแถลง ‘คิว วงฟลัวร์’ ยังไม่พ้นขีดอันตราย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         ผศ.พญ. กฤษณี กาญจนพันธุ์ ศัลยแพทย์สมอง และ ระบบประสาท - นพ. ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผอ.รพ. กรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ

         นาวาอากาศ(พิเศษ) นพ. ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผอ.รพ. กรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ เผยถึงเหตุการณ์หลังจากได้รับตัว นายสุวีระ เข้ามารักษาเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 21 มิ.ย. ว่าเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้าของเมื่อวันที่ 21 เวลาประมาณ 9.00 น. ได้รับการประสานจากอีกโรงพยาบาลว่า จะมีการนำคนไข้มารักษาที่โรงพยาบาลของเรา ซึ่งจริงๆ คนไข้ได้รับการรักษาจากอีกโรงพยาบาลมาก่อน รวมถึงเอ็กซ์เรย์กระโหลกศรีษะมาก่อนแล้ว 

         "เมื่อคนไข้มาถึง ทางเราเองก็ได้ตรวจสอบอีกหลายจุด เช่นกระดูกสันหลังส่วนคอ มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า รวมถึงเอ็กซเรย์จุดอื่นๆ ของร่างกาย รวมถึงช่องท้อง ที่มีอวัยวะสำคัญแต่ก็ไม่พบอะไร จะพบก็แค่กระดูกไหปลาร้าด้านขวาหัก แต่ที่สำคัญจริงๆ คงเป็นปัญหาเลือดออกในชั้นเหนือเยื่อหุ้มสมอง การที่อาจารย์สามารถนำเลือดออกได้เร็ว ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลเร็ว ก็น่าจะทำให้สมองทุกส่วนกลับมาเป็นปกติได้ แต่อย่างที่เรียนให้ทราบ คือตอนนี้เป็นเพียงช่วงแรกเท่านั้น เพราะเราต้องเฝ้าติดตามภาวะเลือดออกในสมองอย่างใกล้ชิด”นาวาอากาศ(พิเศษ) นพ. ไพศาลกล่าว

         ผู้สื่อข่าวถามต่อว่านอกจากอาการกระดูกไหปลาร้าแล้ว ยังต้องดูแลยังไงบ้างนอ.(พิเศษ) นพ.ไพศาล เผยว่ากระดูกของคนไข้หักแยกออกจากกัน แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกก็มองว่าไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่จะให้ใช้วิธีพักแขนให้แขนอยู่เฉยๆ ไม่ขยับเขยื้อนมาก เพราะกระดูกไหปลาร้าสามารถติดกันได้เร็ว ถ้าอาการทางสมองไม่มีอะไรก็ไม่น่าจะมีผลต่อการร้องเพลง แต่ส่วนกระดูกไหปลาร้าที่หักคงต้องใช้วิธีการสลิงแขนไว้ก่อน ถ้าร้องเพลงปกติคงไม่เป็นไร แต่ถ้าขยับมากๆจะมีผลต่อกระดูก เพราะกระดูกคนไข้ไม่ได้ผ่าตัดดามเหล็ก เรารักษาโดยการรอให้กระดูกเขากลับมาเชื่อมต่อกันเอง” นอ.(พิเศษ) นพ. ไพศาลกล่าว

         ทั้งนี้ทางด้าน ผศ.พญ. กฤษณี กาญจนพันธุ์ ศัลยแพทย์สมอง และระบบประสาท ซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของอาการ ที่ได้ทำการผ่าตัดนักร้องคนดัง เปิดเผยว่า จากผลตรวจก็คือคนไข้มีเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองด้านซ้าย และก็มีเลือดบางๆ ใต้เยื่อหุ้มสมองข้างซ้ายเช่นกัน รวมถึงสมองข้างซ้ายด้านหลังช้ำนิดหน่อย ซึ่งเลือดก้อนใหญ่ที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดโดยด่วนก็คือเลือดบริเวณเหนือเยื่อหุ้มสมองด้านซ้าย เพราะมิเช่นนั้นคนไข้อาจจะเข้าสู่ภาวะโคม่าและเสียชีวิตได้ 

หมอแถลง ‘คิว วงฟลัวร์’ ยังไม่พ้นขีดอันตราย

"คิว วงฟลัวร์" 

         "สุดท้ายการผ่าตัดก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี สามารถนำเลือดที่อยู่เหนือเยื่อหุ้มสมองออกได้ทั้งหมด และหลังจากออกมาจากห้องผ่าตัดคนไข้ ก็ตื่น รู้ตัวดี สามารถคุยได้รู้เรื่อง แต่เนื่องจากคนไข้ เพิ่งออกจากห้องผ่าตัด เราก็เลยอยากให้เขาได้พักผ่อนก่อน และจากการเอ็กซเรย์ซ้ำ เมื่อช่วงบ่ายก็พบว่าเลือดที่เป็นอันตรายได้ถูกนำออกไปหมดแล้ว แต่เลือดบางๆ ก็ยังคงมีอยู่ ส่วนที่ช้ำก็ยังช้ำเหมือนเดิม ดังนั้นก็ต้องให้คนไข้อยู่ใน ICU ต่อไป เพื่อเช็คดูว่าสมองที่ช้ำจะบวมขึ้นไหม และเลือดที่อยู่ใต้เยื่อหุ้มสมองจะเพิ่มหรือเปล่า เพราะปกติแล้ว มันจะเป็นไปได้ 3 ทาง คือ มากขึ้น เท่าเดิม และ น้อยลง ซึ่ง ณ ขณะนี้เราก็ต้องตรวจดูเป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ อาการตามจริงของคนไข้ตอนนี้ดีมาก สามารถดื่มน้ำได้ ทานอาหารอ่อนได้เย็นนี้ เป็นปกติทุกอย่าง และสามารถพูดได้เหมือนเดิม แขนขาแรงดีเหมือนเดิม"ผศ.พญ. กฤษณี กล่าว

         ถามต่อว่า ถือว่าพ้นขีดอันตรายหรือยัง ผศ.พญ. กฤษณี กล่าวว่า ถ้ายังอยู่ในห้อง ICU ก็คือว่ายังไม่พ้นขีดอันตราย แต่ทั้งนี้คนไข้อาการดีมาก สามารถพูดได้ ดื่มน้ำได้ ขยับแขนขาได้ปกติ โชคดีตรงที่ผ่าตัดให้คนไข้ได้เร็วพอสมควร เพราะถ้าช้ากว่านี้อาจจะถึงชีวิตได้เช่นกัน 

         "ส่วนปริมาณเลือดที่ระบายออก มีเพียงพอที่จะทำให้คนไข้เข้าสู่ภาวะโคม่าได้ เนื่องจากเลือดค่อนข้างเยอะ ถ้าหากมันเข้าสู่ภาวะดันสมอง มันก็จะเข้าไปกดก้านสมอง ทำให้คนไข้หยุดหายใจ โคม่า และเสียชีวิต แต่ตอนนี้ก็นำออกไปหมดแล้ว ถามว่าคนไข้ต้องอยู่ในห้อง ICU ไปอีกนานแค่ไหน ถ้าเรารู้สึกว่าคนไข้ปลอดภัยแน่ๆ ก็จะให้ออกจาก ICU ส่วนเลือดบางๆ ที่อยู่ใต้เยื่อหุ้มสมอง หากในอนาคตมันไม่เพิ่มขึ้น มันก็จะโดนระบบต่างๆ ในร่างกายดูดซึมกลับไปเอง แต่ถามว่าคนไข้ต้องอยู่อีกนานไหมในห้อง ICU เอ่อ...ปกติถ้ามองตามทฤษฎีก็คือ ในวันที่ 5 สมองส่วนที่บวมจะช้ำมากที่สุด ดังนั้นถ้าหากมันจะเกิดอะไรขึ้น มันก็คงภายใน 5 วันนี้ แต่ด้วยความที่เราไม่สามารถระบุเป๊ะๆ ได้ ตอนนี้ก็คงให้บอกเป็นตัวเลขว่ากี่วันถึงจะออกคงลำบาก สำหรับการรักษาคนไข้ ยังไงเราต้องเฝ้าดูเต็มที่ แต่ด้วยความที่คนไข้อยู่ในห้อง ICU และมีแพทย์เข้าไปดูแลวินาทีต่อวินาที เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราก็สามารถรักษาได้ทันท่วงทีอย่างแน่นอน"ผศ.พญ. กฤษณี กล่าว

         เกี่ยวกับเรื่องกำลังใจคนไข้เป็นยังไง ผศ.พญ.กฤษณี เปิดใจว่า คนไข้กำลังใจดีมาก ไม่ได้รู้สึกแย่หรือตกใจ  และอยากจะออกไปวิ่งเล่นแล้วด้วย ส่วนคนที่อยากมาเยี่ยม อยากให้รอให้สมองคนไข้ดีก่อนจะดีกว่า รวมถึงให้หมออนุญาตให้คนไข้ออกจากห้อง ICU ก่อน แล้วค่อยมาเยี่ยม  เพราะเอาจริงๆ บางคนแค่พักฟื้น 2 สัปดาห์ ก็สามารถกลับบ้านได้แล้ว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ