ข่าว

“กรธ.”เปิดWebbordให้ถามร่างรธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“กรธ.”เปิดWebbord ให้ปชช.ถามทุกประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรธน.พร้อมโพสต์รายละเอียดแก้ข้อบิดเบือน 3 ประเด็นใหญ่

        คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรธ. ได้เพิ่มช่องทางสื่อสารและทำความเข้าใจต่อประชาชนในเนื้อหาและสาระของร่างรัฐธรรมนูญ โดยล่าสุดได้เปิดพื้นที่สนทนา และถามตอบ ผ่านทางเวปไซต์ http://cdc.parliament.go.th/webboard เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่มีข้อซักถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญร่วมโพสต์ข้อความ และจะมีกรธ. เป็นผู้ให้คำตอบโดยตรง ทั้งนี้จากการเปิดกระดานสนทนา เมื่อต้นเดือนมิถุนายน มีผู้ที่เข้าไปโพสต์คำถามแล้วทั้งสิ้น 3 กระทู้  ได้แก่ กระทู้สอบถามถึงการเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล  ถามโดย “ซอลิ้วเฮียง”, กระทู้ถามถึงการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ​ ถามโดย “audong” และกระทู้ถึงความบทบาทและหน้าที่ขององค์กรยุทธศาสตร์ชาติและองค์กรที่ทำงานด้านการปฏิรูป ถามโดย “สรัล สินุธก” 

          ทั้งนี้กรธ.ได้เข้ามาตอบคำถามทั้งหมดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.​ที่ผ่านมา ซึ่งสรุปสาระสำคัญทั้ง 3 ประเด็นได้ว่า บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดให้มีองค์กรยุทธศาสตร์ชาตินั้นต้องมีบทบาทเชื่อมโยงกับการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ประเทศพัฒนา ขณะที่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจที่มากไปกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ส่วนที่มาของนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลกำหนดให้ใช้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติเว้นการใช้บางมาตราของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกเว้นการเลือกนายกฯ ที่มาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ส่วนกรณีที่สภานิติบัญญัติเสนอให้วุฒิสภาร่วมเลือกนายกฯ ด้วยนั้น ขอให้สอบถามเหตุผลจากทางสนช. 

          เว็ปไซต์ของกรธ. ยังได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกบิดเบือนด้วย โดยในรายละเอียดแบ่งการชี้แจงเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ 1.ด้านสิทธิ เสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญ ที่พบการชี้แจงทั้งสิ้น 9 ประเด็น อาทิ สิทธิด้านสาธารณะสุข สวัสดิการของรัฐ เช่น การเลิกนโยบายรักษาฟรี, ไม่มีบทบัญญัติที่ให้การคุ้มครองและรับรองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน, สิทธิของผู้สูงอายุ 

          ทั้งนี้มีประเด็นชี้แจงที่น่าใจ คือ ประเด็นการตัดสิทธิของประชาชนในการเลือกส.ว. โดยคำอธิบายระบุใจความได้ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเบื้องต้น กำหนดให้ส.ว.มาจากการเลือกกันเองตามสาขาวิชาชีพ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิเลือก แต่กลับไม่มีคำอธิบายในส่วนของบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติที่ตรงกับข้อบิดเบือนดังกล่าว

          2.เรื่องความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ ที่มีเนื้อหาเชื่อโยงกับการเขียนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองในด้านการกำหนดนโยบายที่ไม่เป็นอิสระ สร้างความอ่อนแอให้กับรัฐบาล และวางกลไกให้มีการตรวจสอบพรรคการเมืองตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งโดยองค์กรอิสระ ทั้งนี้ในคำชี้แจง สรุปสาระสำคัญได้ว่า เจตนารมย์ของร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและให้ความสำคัญกับการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่นโยบายของพรรคยังเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องจัดทำโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศด้วย ตามเงื่อนไขของร่างมาตรา 240 และร่างมาตรา 241 

          ทั้งนี้ในบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าไปตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีในกรณีที่อาจพบความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลได้กำหนดให้องค์กรอิสระ คือ กกต., คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหน้าที่แจ้งเตือนไปยังรัฐบาลเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชน  

          3.เรื่องประชาธิปไตยมีการชี้แจงใน 2 ประเด็น คือ 1.นายกฯที่ไม่เป็นส.ส.หรือนายกฯคนนอก ขาดความยึดโยงกับประชาชน ซึ่งในคำชี้แจงระบุว่าประเด็นดังกล่าวถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนตามบทบัญญัติร่างมาตรา 83 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีนายกฯ ไม่เกิน 3 รายชื่อที่ผ่านการคัดเลือกอย่างรอบคอบ และเหมาะสมต่อกกต.ในช่วงสมัครรับเลือกตั้งและกำหนดให้ประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ​ ดังนั้นในช่วงเลือกตั้งจึงไม่ทราบว่าใครจะได้ส.ส.แต่หากมีความกังวลทางพรรคสามารถกำหนดข้อบังคับพรรคได้ว่า นายกฯ​ต้องเป็นส.ส.เท่านั้น ทั้งนี้ไม่มีการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาน และการเขียนเนื้อหาเป็นไปด้วยความโปร่งใส ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสิน 

          2.กำหนดกลไกที่ทำให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ยาก มีคำชี้แจงว่า ยืนยันในหลักการของกฎหมายที่สามารถแก้ไขได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบด้วยการลงประชามติต้องใช้เสียงมากพิเศษในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทั้งนี้หลักการที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้นักการเมืองใช้อำนาจล้มล้าง และเป็นหนทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเมืองและแก้ไขแนวทางที่นำไปสู่ทางตันของประเทศได้ ดังนั้นหลักการที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ด้วยการสร้างความสมานฉันท์ของฝ่ายการเมือง หากจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต้องเห็นไปในทางเดียวกันและเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม

                      

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ