ข่าว

ไทยผู้นำส่งออกสับปะรดแปรรูป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บายไลน์ - รศ.สมพร อิศวิลานนท์

              สับปะรดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทางตอนใต้ของประเทศบราซิลติดต่อกับประเทศปารากวัย และแพร่ขยายไปในทวีปอมเริกาใต้และอเมริกากลาง ในระยะเวลาต่อมาก่อนที่ดินแดนในพื้นที่ดังกล่าวจะถูกค้นพบโดยโคลัมบัสในปลายศตวรรษที่ 15 เนื่องจากผลของสับปะรดมีลักษณะแปลก ทำให้คณะสำรวจนำกลับมายังสเปน ซึ่งต่อมามีความพยายามปลูกทั้งเป็นไม้ประดับและใช้ผลเพื่อตกแต่งโชว์บนโต๊ะอาหาร สับปะรดจึงเป็นพืชที่ชนชั้นเศรษฐีในยุโรปในยุคนั้นนิยม มีการลงทุนสร้างโรงเรือนจำเพาะเพื่อการปลูกอวดถึงความมั่งคั่ง

              ชาวโปรตุเกสนำพันธุ์สับปะรดมาเผยแพร่ในเอเชีย โดยนำมาปลูกที่ที่อินเดียและในหมู่เกาะชวาและแหลมมลายูในช่วงศตวรรษที่ 16 ส่วนชาวสเปนนำมาเผยแพร่ในฟิลิปปินส์เมื่อครั้งที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนในช่วงศตวรรษเดียวกัน ซึ่งต่อมาการเพาะปลูกสับปะรดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวออกไปเพราะมีภูมิภาคร้อนชื้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโต       สำหรับการทำฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อการผลิตสับปะรดกระป๋องเกิดขึ้นในราวต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการทำฟาร์มขนาดใหญ่ขึ้นในหมู่เกาะของฮาวายโดยชาวอเมริกา 

               สับปะรดเป็นพืชที่มีคุณสมบัติทางโภชนาการทั้งในด้านการให้พลังงานและมีองค์ประกอบของวิตามิน เช่น ไทอามีน (บี 1) ไรโบเฟลวิน (บี 2) ในอาซิน (บี 3) กรดเพนโทเทนิก (บี 5) วิตามินบี 6 โฟเลด (บี 9) และวิตามินซี นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบของแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สังกะสี เป็นต้น

              การผลิตสับปะรดของโลกในปี 2557 มีประมาณ 21.9 ล้านตัน ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผลผลิตจากเอเชีย สำหรับอาเซียนมีปริมาณผลผลิตรวมกันสูงสุดหรือประมาณร้อยละ 34 ของผลผลิตโลก ในจำนวนนี้มีฟิลิปปินส์เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ รองลงมาได้แก่ไทยและอินโดนีเซีย

               ในประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดกระจายอยู่เกือบทุกภาค แต่จังหวัดที่มีการเพาะปลูกมากได้แก่ภาคกลางของประเทศ โดยเฉพาะใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในภาคตะวันตก และจ.ระยอง ในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการปลูกเพื่อป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป การปลูกสับปะรดในภูมิภาคอื่นๆ เป็นการปลูกเพื่อตลาดบริโภคหัวสด พันธุ์ที่นิยมบริโภคสดได้แก่พันธุ์ภูเก็ตซึ่งปลูกในภาคใต้ พันธุ์ภูแลในภาคเหนือ ซึ่งพันธุ์ดังกล่าวมีลักษณะจำเพาะของพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต ซึ่งต่างไปจากพันธุ์ปัตตาเวียซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นสำคัญ

               การส่งออกสับปะรดของไทยและของอาเซียน ส่วนใหญ่แล้วจะส่งออกในรูปของการแปรรูป ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด สับปะรดกวน เป็นต้น ในปี 2557 ไทยส่งออกสับปรดกระป๋องเป็นลำดับหนึ่งของโลก จากปริมาณการส่งออก 967 พันตัน เป็นการส่งออกจากไทยถึงร้อยละ 55.4 ส่วนการส่งออกของฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คิดเป็นร้อยละ 19.9 และ 14.4 ตามลำดับ

               สำหรับการส่งออกน้ำสับปะรดมีประมาณการส่งออก 350 พันตัน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกจากไทยร้อยละ 30.6 รองลงมาได้แก่การส่งออกของฟิลิปปินส์ร้อยละ 30.0 ส่วนอินโดนีเซียมีการส่งออกน้ำสับปะรดเพียงเล็กน้อย

                ไทยและอาเซียนจึงเป็นผู้ถือครองตลาดส่งออกสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดรายใหญ่ของโลก สำหรับมูลค่าการส่งออกสับปะรดโดยรวมของไทยในปี 2557 คิดเป็นมูลค่าถึง 23,604 ล้านบาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ