คอลัมนิสต์

ม.44แก้อาชีวะตีกันได้ผลจริง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ม.44แก้อาชีวะตีกันได้ผลจริง? : รายการ คม ชัด ลึก

           ปัญหานักเรียนนักเลงทะเลาะวิวาทกันที่มีมานาน หลายฝ่ายพยายามหาทางแก้ปัญหามาตลอดแต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ล่าสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศใช้อำนาจตาม มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนอาชีวะก่อเหตุทะเลาะวิวาท พ่อแม่ผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบ

           ณัฐนรินท์ ไชยนิด นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคดุสิต กล่าวว่า ทุกครั้งที่ทราบข่าวนักเรียนอาชีวะตีกัน ผมก็จะนั่งคุยกับเพื่อนๆ เพื่อหาทางหลีกเลี่ยงปัญหา ด้วยการกลับบ้านช้า เพื่อหลีกเวลากับสถาบันอื่น เป็นการป้องกันตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าจะถูกทำร้ายด้วยหรือไม่

           ที่ผ่านมา ผู้ปกครองจะติดต่อสอบถามอยู่เสมอทั้งเช้าและเย็นว่า ถึงโรงเรียนหรือยัง กลับหรือยัง ทำไมกลับช้า

           ในสถาบันรุ่นพี่จะสอนว่า ต้องเชื่อฟังพ่อแม่เป็นอันดับหนึ่ง อาจารย์เป็นอันดับสอง และรุ่นพี่เป็นอันดับสาม

           กรณีที่จะให้พ่อแม่มาดูแลลูกอย่างจริงจัง พ่อแม่จะมีเวลาดูแลตลอดเวลาได้หรือ ? เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงาน

           วรฐ อัศวลาภสกุล หัวหน้างานปกครองและศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคดุสิต กล่าวว่า มาตรการใดมาตรการหนึ่งไม่ใช่สูตรสำเร็จ ต้องทำทุกๆ มาตรการ

           โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า มาตรการนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ปกครองใกล้ชิดกับบุตรหลานมากยิ่งขึ้น การดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้บุตรหลานมีภูมิต้านทาน ภูมิคุ้มกันในการที่จะตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ หรือมีภูมิต้านทานที่จะไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดที่เสี่ยง หรือไม่เอาตัวเองไปอยู่ในสังคมที่จะนำพาไปอยู่ในที่เสี่ยงได้

           กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีเหตุทะเลาะวิวาท มองว่า มาจากเรื่องสภาพสังคม ที่มีการสร้างระบบแพ้คัดออก หลายคนอยู่ในครอบครัวที่แตกแยก ทำให้ไม่ได้รับความอบอุ่น และมักจะเป็นกลุ่มที่เรียนในระดับมัธยมแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เรียนไม่เก่ง ถูกผลักดันให้ไปเรียนสายอาชีวะ

           แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีแผลในใจติดตัว เมื่อมาอยู่รวมกันก็พยายามที่จะหาวิธีการสร้างกติกาของกลุ่ม สร้างวิธีการยอมรับของกลุ่ม อย่างเช่น การสร้างความรุนแรง แต่มิได้หมายความว่า จะเป็นเช่นนี้ทุกกลุ่ม

           หากมีใครสอนพวกเขาตั้งแต่ต้นว่า วิธีการแก้ปัญหาคืออะไร

           การให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมนั้น ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะต้องทำ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา

           จริงๆ แล้วเด็กอาชีวะเป็นเด็กที่มีศักยภาพสูงมาก หากได้รับการส่งเสริมและผลักดันอย่างจริงจัง ต้องส่งเสริมให้เขารู้คุณค่าในตัวเอง ด้วยการส่งเสริมให้เขาทำงานหารายได้พิเศษระหว่างเรียน

           หากเด็กทุกคนรู้ว่า ตัวเองมีอนาคต สามารถทำงานได้ ประกอบอาชีพได้ เมื่อเขามองเห็นอนาคตเขาก็จะไม่ทำลายอนาคตของตัวเอง

           ชาญเวช บุญประเดิม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า มาตรการที่ออกมานั้น คิดว่าเป็นคำสั่งที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือ ความร่วมมือ ทั้งจากผู้ปกครองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

           การที่เด็กมีปัญหาทะเลาะวิวาทกัน มาจาก 5 ส่วนคือ 1.ตัวนักเรียน นักศึกษาเอง ที่มีความห้าว ความคึกคะนอง 2.เป็นเรื่องเดิมของสถาบัน ที่เคยมีเรื่องกันมาก่อน 3.ความขัดแย้งกันเองในชุมชน คือ อยู่ในชุมชนเดียวกัน แต่เรียนคนละสถาบัน หรือมีความขัดแย้งส่วนตัว 4.รุ่นพี่ 5.บุคคลภายนอกที่มีพฤติกรรมแอบแฝง เช่น จัดหาอาวุธให้ หรือมียาเสพติด

           สรุปได้ว่า รัฐบาลได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วในการที่จะบริหารเด็กกลุ่มนี้ ด้วยการให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เชื่อว่า จะเป็นมาตรการที่ได้ผลอย่างแน่นอน
 
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ