Lifestyle

อาชีวะถกด่วน49วิทยาลัยเสี่ยงวางแผนสกัดเหตุวิวาท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สอศ.ประชุมวิทยาลัยรัฐ-เอกชน กลุ่มเฝ้าระวัง 49 แห่ง หลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ใช้ม.44 ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขทะเลาะวิวาท เบื้องต้นวาง 6 มาตรการให้เร่งทำ

          เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน กลุ่มเฝ้าระวังพิเศษ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 49 แห่ง ว่า ได้ชี้แจงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน และนักศึกษา พบว่า คำสั่งของหัวหน้าคสช. ฉบับนี้ นอกจากจะป้องกันปัญหาทะเลาะวิวาทแล้ว ยังดูแลเรื่องความประพฤติของนักเรียน นักศึกษาทุกเรื่อง โดยครอบคลุมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่อยู่ในสถานศึกษาทุกสังกัด ไม่ใช่เฉพาะอาชีวศึกษาเท่านั้น

          ทั้งนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาทุกคนต่างเห็นด้วยว่า คำสั่งนี้มีผลในเชิงบวก และจะสร้างความมั่นใจให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดูแลเด็ก เพราะมีเครื่องมือที่สามารถกำกับดูนักเรียน นักศึกษาได้มากขึ้น เช่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีตามหมวด 7 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครอบเด็ก พ.ศ.2546 มีอำนาจกักตัวนักเรียน นักศึกษาที่ก่อเหตุหรือเตรียมก่อเหตุทะเลาะวิวาทเป็นการชั่วคราว ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ซึ่งจากเดิมที่ไม่มี ดังนั้น จากนี้หากพนักงานเจ้าหน้าที่ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า นักเรียน นักศึกษามีพฤติกรรมที่อาจจะก่อเหตุทะเลาวิวาท ก็สามารถใช้ดุลยพินิจกักตัวไว้ได้  ซึ่งจุดนี้จะเป็นการป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ เป็นต้น  

          เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์พบว่า มีบุคคลตามตำแหน่งที่จะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน นักศึกษา อยู่ในทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.)  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฯลฯ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 คน แต่ผู้ที่จะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ จะต้องผ่านการอบรม หลักสูตร พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน นักศึกษา และมีบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเท่านั้น   ในส่วนของสอศ.มีบุคคลที่เข้าข่ายจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประมาณ 1,500 คน ตั้งแต่เลขาธิการกอศ.  รองเลขาธิการ กอศ. ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา  ครูฝ่ายปกครอง และครูฝ่ายกิจกรรม ดังนั้น จะมีการสำรวจว่ามีบุคคลที่ผ่านการอบรมแล้วกี่คน และจะดำเนินการจัดการอบรม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามคำสั่ง คสช.ได้

          นอกจากนี้  ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการเพื่อปฏิบัติตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ใน 6 ข้อ ดังนี้ 1.ในส่วนของสถานศึกษากลุ่มเฝ้าระวังพิเศษ 49 แห่ง จะสำรวจและจัดอบรมให้บุคคลกร ตามหมวด7 ที่เกี่ยวข้องทุกคนเพื่อให้ได้บัตรพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน 2 สัปดาห์ และตรวจสอบพร้อมจัดอบรมให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน  หากบุคคลที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จากทุกสังกัดมาช่วยดูแลเรื่องนี้ ก็จะทำให้สามารถดูแลและเผ้าระวังได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น 2. ทุกวิทยาลัยต้องสร้างความเข้าใจ และให้ผู้ปกครองทุกคนรับรู้เกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้า คสช.  ว่าทุกคนมีหน้าที่อบรมสั่งสอน และไม่สนับสนุนให้ไปรวมกลุ่มเพื่อก่อเหตุทะเลาะวิวาท เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแจ้งให้รับทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกหลาน และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

           3.เผยแพร่ให้ทุกคนได้ทราบเกี่ยวกับโทษ ของผู้ยุยงส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษากระทำผิด ที่มีโทษหนักขึ้น ทั้งจำและปรับ 4. ให้สถานศึกษาในสังกัดสอศ.ทุกแห่ง ทำแผนและมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาท ที่เป็นรูปธรรม แล้วเสนอมาให้สอศ.พิจารณาภายใน วันที่ 24 มิ.ย.  5. ให้สถานศึกษาจัดตารางปฏิบัติหน้าที่ของครู อาจารย์ในการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในทันที และ6.ให้ สถานศึกษาสังกัดสอศ. ทำบันทึกเหตุการณ์ และส่งรายงานให้สอศ.รับทราบทุกวัน  

          “หากเกิดเหตุขึ้นอีก สอศ.จะดูตามแผนที่สถานศึกษาแต่ละแห่งเสนอมา ว่ามีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหรือไม่ หากทำแล้วแต่ยังเกิดเรื่องขึ้น สอศ.ก็จะต้องหาแนวทางช่วยเหลือ แต่ถ้าไม่ทำ ก็ต้องรับผิดชอบ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะไปดูในส่วนของผู้ยุยงสนับสนุน ซึ่งจะพิจารณาโทษตามลำดับความรนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น  หากมีผู้เสียชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น และแน่นอนว่า  พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องรับผิดชอบด้วย  ซึ่งผมเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ ประกาศใช้ได้อย่างตรงจุดและตรงเวลา เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1 ที่เพิ่งเข้าเรียน ซึ่งจากการสอบถามนักเรียนที่ก่อเหตุ ก็พบว่า มีรุ่นพี่ยุยง ดังนั้น  คำสั่งนี้จะทำให้ปัญหาทะเลาวิวาทลดลง และจะทำให้ผู้ปกครองมั่นใจส่งลูกมาเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น”ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว

          ด้าน นายวันเดิม  มีความดี ที่ปรึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีปทุมธานี กล่าวว่า มาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ทำให้รุ่นพี่และเด็ก ๆ กลุ่มเสี่ยงมีความเกรงกลัวต่อคำสั่ง คสช.ฉบับนี้ และเชื่อว่าจำทำให้สถานการณ์เบาลง ทั้งนี้ที่ผ่านมาเด็ก หากพบว่ามีเด็กพกระเบิด หรืออาวุธปืน เข้ามา ทางวิทยาลัยจะเชิญผู้ปกครองให้มาเอาเด็กออก ส่วนที่พกมีดหรืออาวุธเล็ก ๆ น้อยก็จะถูกทำทัณฑ์บน หรือพักการเรียน โดยวิทยาลัยมีเด็กกลุ่มเสี่ยง และแนวร่วมไม่มาก แต่พอก่อเหตุแล้วเป็นเรื่องใหญ่

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ